ก.วิทย์หนุนระบบขนส่งราง
เปลี่ยนไทยให้มีรายได้สูง

“พิเชฐ” เชื่อระบบขนส่งทางราง เปลี่ยนประเทศไทยให้มีรายได้สูง เผยรัฐบาลหนุน “พิษณุโลก” เป็นฮับการคมนาคมขนส่ง ด้านก.วิทย์จับมือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง และ สภาอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมบุคลากรที่จะมารองรับระบบราง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้ที่จะประกอบการเดินรถ และประกอบการซ่อมบำรุงรถไฟในอนาคต
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก โดยมี สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถานวิจัยด้านความเป็นเลิศ ด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพหลัก มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 200 คน
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบทั้งส่วนที่เป็นระบบราง รถไฟรางคู่ การปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ไปจนถึงอนาคตระบบรางที่ทันสมัย และมีความเร็วที่สูงขึ้น ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จับมือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง และ สภาอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมบุคลากรที่จะมารองรับระบบราง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้ที่จะประกอบการเดินรถ และประกอบการซ่อมบำรุงรถไฟในอนาคต
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ผลกระทบกับเส้นทางที่ระบบรางเดินผ่านคือ ความเจริญที่จะเกิดขึ้น แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการก่อสร้างที่ต้องคู่ขนานไปในการกระจายความเจริญ ลดความแออัดในชุมชนเมือง เพื่อให้คนคืนกลับถิ่น ซึ่งแน่นอนว่า บริบทแวดล้อมต้องดี เช่น มีโรงพยาบาล สถานศึกษาที่ดี อยู่ในแนวสองข้างทางที่ระบบรางผ่าน กระจายทั่วประเทศ ถึงวันนั้นเราก็จะได้เห็นความเจริญที่เป็นรูปธรรม การจะให้คนคืนถิ่นก็จะง่าย
“พิษณุโลกจะกลายเป็น ฮับแห่งการคมนาคมขนส่ง เชียงใหม่จะกลายเป็น ฮับการท่องเที่ยว หรือจะเป็นฮับของอะไรก็แล้วแต่ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วประเทศที่มีระบบรางจะพาดผ่าน” ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการสร้างอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางรากฐานหรือสร้างระบบรางนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลพิจารณาแล้ว และพยายามทำให้เอกชนของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และชาติอื่นๆ ที่จะตามมา
“จำได้ว่าเมื่อ 3-4ปีที่แล้ว ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเลยในประเทศไทย ที่มีหลักสูตรเรื่องระบบราง วันนี้อย่างน้อยมี 10 มหาวิทยาลัย ที่เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งสัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดี เราควรพยายามประคับประคองให้มีความเข็มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำการเชื่อมโยง มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ และเราหวังว่าเราจะได้ระบบรางที่เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ในที่สุด