แนวทางการพิสูจน์สาเหตุการถล่มของอาคาร สตง.

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา จนทำให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างอยู่พังถล่มลงมาอย่างสิ้นเชิงนั้น ปัจจุบันหลายฝ่ายกำลังค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการพังถล่มของอาคารหลังนี้ เนื่องจากเป็นอาคารเพียงหลังเดียวที่ถล่มลงมา

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า จากภาพวีดีโอที่บันทึกการถล่มจากหลายๆมุม ในจังหวะเวลาเดียวกัน พบว่าจุดเริ่มต้นของการถล่มเกิดขึ้นที่บริเวณปล่องลิฟต์ที่อยู่ด้านหลังของอาคารก่อน จากนั้นทำให้เสาชั้นบนเกิดการระเบิด แล้วตามมาด้วยการระเบิดของเสาชั้นล่าง (เสาสูง) ทำให้อาคารทั้งหลังพังถล่มลงมาในแนวดิ่งอย่างสิ้นเชิงด้วยน้ำหนักมหาศาลของตัวอาคารเอง
การที่ผนังปล่องลิฟต์ เกิดการพังทลายก่อนเป็นประเด็นที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากปล่องลิฟต์เป็นส่วนที่รับน้ำหนักหลักของโครงสร้าง ผนังปล่องลิฟต์ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยใช้คอนกรีตกำลังอัดสูงจึงควรเป็นส่วนที่แข็งแรงของอาคาร แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพังถล่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ สาเหตุที่ทำให้ปล่องลิฟต์ถล่มนั้น ปัจจุบันมีการสันนิษฐานไว้หลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
- ตำแหน่งของปล่องลิฟต์ซึ่งวางอยู่ทางด้านหลังของอาคาร ทำให้เกิดสภาพความไม่สมมาตรในการต้านแรง อาคารจึงเกิดการบิดตัวและนำไปสู่การถล่มได้
- มีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างโดยการปรับความหนาของผนังปล่องลิฟต์ลงจาก 30 ซม. เหลือ 25 ซม. ในบางผนัง (ข้อมูลจากทาง สตง. ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการธิการติดตามงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร)
- กำลังวัสดุ เช่น คอนกรีตว่ามีค่ากำลังอัดตามที่ออกแบบหรือไม่ ทราบว่ามีการเก็บตัวอย่างไปแล้วแต่ยังไม่มีการรายงานผลกำลังอัดออกมา ส่วนเหล็กเสริมได้มีการนำชิ้นตัวอย่างไปทดสอบบางส่วนแล้ว
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น ฐานรากทรุด เครนที่ตั้งอยู่บนปล่องลิฟต์เกิดแรงเหวี่ยงกระทำต่อผนังปล่องลิฟต์ แรงแผ่นดินไหวมากเกินกว่าที่กำหนดในมาตรฐานหรือไม่ เป็นต้น
จากสาเหตุปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปว่า การถล่มเกิดขึ้นจากการออกแบบ หรือ การก่อสร้าง หรือเกิดจากปัจจัยอื่นๆ
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ อธิบายว่าการที่จะระบุว่าสาเหตุการถล่มของอาคารเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบ หรือ การก่อสร้าง หรือปัจจัยอื่นๆ นั้น สามารถกระทำได้โดยการสร้างแบบจำลอง 3 มิติโครงสร้าง (3D Structural model) ของอาคารหลังนี้ให้เสมือนจริงที่สุดโดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์วิเคราะห์โครงสร้าง ทั้งนี้จะต้องทำแบบจำลองไว้ 2 แบบเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ดังนี้
- แบบจำลองที่ 1 สร้างขึ้นตามแบบที่ออกแบบ (Design drawings) โดยกำหนดคุณสมบัติของวัสดุ ความหนาและปริมาณเหล็กเสริมตามที่ออกแบบ
- แบบจำลองที่ 2 สร้างขึ้นตามแบบก่อสร้างหรือแบบที่สร้างจริง (Show drawings หรือ As-built drawings) โดยกำหนดคุณสมบัติวัสดุ เช่นคอนกรีตจากค่าที่ทดสอบจริง กำหนดความหนาและปริมาณเหล็กเสริมตามที่ก่อสร้างจริง ที่ได้มีการขอแก้ไขแบบ
จากนั้น ทำการวิเคราะห์แบบจำลองโครงสร้างทั้งสอง โดยใช้คลื่นแผ่นดินไหวที่วัดได้จริง และดูผลการตอบสนองของแบบจำลองโครงสร้างในคอมพิวเตอร์ หากแบบจำลองที่ 1 ไม่ผ่านแสดงว่ามีปัญหาในขั้นตอนการออกแบบ แต่หากแบบจำลองที่ 1 ผ่านแต่แบบจำลองที่ 2 ไม่ผ่าน แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในขั้นตอนก่อสร้าง
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อไปว่า การวิเคราะห์เปรียบเทียบแบบจำลองทั้งสอง จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการออกแบบและการก่อสร้างได้ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือกว่าการคาดเดา เนื่องจากสามารถอธิบายพฤติการถล่มของอาคารหลังนี้ในเชิงตัวเลขได้ ทั้งนี้การวิเคราะห์ดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างและแผ่นดินไหว ดังนั้นในขั้นตอนนี้ จึงยังไม่ควรสรุปสาเหตุใดๆ จนกว่าจะได้ผลวิเคราะห์ในรายละเอียดตามข้างต้นเสียก่อน