สสส.จัดมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ครั้งที่ 4 โชว์ความสำเร็จโมเดลชุมชนน่าอยู่ 147 หมู่บ้านภาคอีสาน ลดเหล้า-บุหรี่ เพิ่มการขยับ-กินผัก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28กันยายน 2563 ที่โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น ภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ “ชุมชนน่าอยู่อีสาน มั่นคง อย่างยั่งยืน” เพื่อนำเสนอผลสำเร็จของการทำงานร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 147 หมู่บ้าน ลดเหล้า-บุหรี่ เพิ่มการขยับ-กินผัก สำเร็จ พร้อมนำสื่อมวลชนสัญจรพื้นที่ตัวอย่างกลไกสภาผู้นำชุมชนเข้มแข็งที่บ้านหนองโพด จ.มหาสารคาม ชูนวัตกรรม ‘ธนาคารน้ำเสีย’ จัดการปัญหาขยะ-น้ำเสียได้ 100 %
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การพัฒนาหมู่บ้านให้เข้มแข็งน่าอยู่ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ถือเป็นภารกิจในการสร้างสังคมสุขภาวะของ สสส. ภายใต้ชุด โครงการชุมชนน่าอยู่ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนระดับหมู่บ้าน โดยใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนเป็นกลไกสร้างความมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เพื่อให้เป็นรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนของการสร้างเสริมสุขภาพ
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า โครงการชุมชนน่าอยู่ภาคอีสาน ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 ขยายเครือข่ายในพื้นที่ 147 หมู่บ้านครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคอีสาน เกิดผลลัพธ์เชิงประเด็นที่ประสบผลสำเร็จ อาทิ ชุมชนน่าอยู่ด้วยการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ทั้งการจัดการขยะ การแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ งานบุญประเพณีปลอดเหล้า ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และการจัดการน้ำเสีย ชุมชนน่าอยู่ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ในระยะเวลา 3 ปี มีผู้เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน 6 เดือน 770 คน ผู้ลด ละการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8,639 คน จาก 12,410 คน ทำให้ลดค่าใช้จ่าย 26.5 ล้านบาท มีผู้เลิกสูบบุหรี่เกิน 6 เดือน 95 คน ผู้ลด ละ การสูบ 202 คน จาก 569 คน ลดค่าบุหรี่ลง 2.5 แสนบาท มีผู้รับประทานผักมากกว่า 400 กรัมต่อวัน 32,672 คน ปลูกผักในครัวเรือนทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักกว่า 11 ล้านบาท มีผู้ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 14,559 คน
“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลไกสภาผู้นำชุมชนถือเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมในการใช้ความร่วมมือจัดการปัญหาด้านสุขภาพของพื้นที่ มีการจัดการได้อย่างเป็นระบบด้วยชุมชน ตั้งแต่การให้ความรู้คนในชุมชน จัดการข้อมูลเพื่อวางแผนอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องการป้องกัน รับมือ และแผนความมั่นคงทางอาหาร ความสะอาด รวมถึงมีการสื่อสารในชุมชนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การรายงานผลรายวัน รายงานผลการติดตามเฝ้าระวัง ปัญหาอุปสรรคที่พบ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงาน” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สสส. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของชุมชนน่าอยู่คือ มีการบริหารจัดการที่ดีของชุมชน โดยกลไกสภาผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างองค์กรเดิมของชุมชนในรูปแบบใหม่ ที่ประกอบด้วยผู้นำชุมชนที่เป็นทางการ อย่างผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชุมชน จิตอาสา ตัวแทนคุ้มบ้าน เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ และจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับมีทีมพี่เลี้ยงในพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษา และเสริมพลังความรู้ให้กับชุมชน
นายสุพรรณ ผาลินันท์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโพด จ.มหาสารคาม กล่าวว่า กลไกสภาผู้นำชุมชนเข้มแข็งของบ้านหนองโพด ได้ริเริ่มโครงการ “บ้านหนองโพดร่วมลดขยะในชุมชน” ครอบคลุม 148 ครัวเรือน จนเกิดความสำเร็จในการจัดการขยะและน้ำเสีย ที่เรียกว่า “ธนาคารน้ำเสีย” นวัตกรรม ที่ประยุกต์วิธีการทำมาจากธนาคารน้ำใต้ดินที่เป็นทุนเดิมของหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านเห็นปัญหาน้ำเสียจากครัวเรือนที่ไหลลงไปรวมกันในที่นาของชาวบ้าน จนทำให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งความสำเร็จของโครงการที่สำคัญคือการมีกลไกสภาผู้นำชุมชนที่ สสส. เข้ามาจัดกระบวนการทำให้เกิดสภาผู้นำชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมของจิตอาสาในหมู่บ้าน จนทำให้บ้านหนองโพด เป็นชุมชนที่น่าอยู่อย่างมาก