อึ้ง ผลสำรวจพบเด็กเมืองเหนือซดเหล้าตั้งแต่ละอ่อน คาด ไม่เกิน 10 ปี
อึ้ง ผลสำรวจพบเด็กเมืองเหนือซดเหล้าตั้งแต่ละอ่อน คาด ไม่เกิน 10 ปี เชียงรายสถิติพุ่งขึ้นอันดับ 1 ของประเทศ วอนกรรมาธิการแก้กฎหมายคุมแอลกอฮอล์ให้เข้มแข็งมากขึ้น และเรียกร้องจิตสำนึกของทุกฝ่ายให้ปกป้องเด็กเยาวชน
วันที่ 26 มิถุนายน 2567 กลุ่มเยาวชน YSDN (Youth Strong & Development Network) ได้จัดเสวนาคืนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ของเด็ก เยาวชนในจังหวัดเชียงราย และอีก 6 จังหวัด พร้อมยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ต่อนายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนายธีระ วัชรปราณี รองประธานฯ คนที่ 5 ที่วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา
นายณัฐพงษ์ ไชยพงษ์ เจ้าหน้าที่โครงการ YSDN จังหวัดน่าน กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในกลุ่มอายุ 12-15 ปี จำนวน 10,078 ในอำเภอพาน อำเภอเทิง อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอโนนสัง อำเภอวังทอง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอบัวเชด และอำเภอกระนวน พบว่า เด็กไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตเปราะบาง โดยพบว่า 62.75 % มีเพื่อนดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคนที่มีผลต่อการดื่มครั้งแรกคือ เพื่อนและรุ่นพี่ รุ่นน้อง 56.53% สมาชิกในครอบครัว 31.43 % ส่วนสถานที่ดื่มพบในงานบุญประเพณี 46.25 % งานวันเกิด 45.90% ดื่มช่วงรับประทานอาหารกับครอบครัว 19.10 % โดย 48.62 เคยซื้อจากร้านค้าต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังขาดความรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และชี้ให้เห็นว่ายังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจังโดยเฉพาะในระดับชุมชนได้
ด้าน นส.โสภี ดงปาลี กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินโครงการใน 5 อำเภอ ของจังหวัดเชียงรายสะท้อนว่า หากไม่มีมาตราการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจจะทำให้สถิติการดื่มของจังหวัดเชียงรายสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศได้ เพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายและราคาถูก สุราชุมชนก็มีการส่งเสริมให้ผลิตได้อย่างเสรี ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจังหวัดเชียงรายที่ร่วมเสวนารับปากว่ากวดขันให้เป็นไปตามกฎหมาย และพร้อมให้คำปรึกษากลุ่มเยาวชน หรือแจ้งเหตุใหมีการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายให้เด็กเยาวชน รวมถึงการเข้มงวดการจัดงานดนตรี ประเพณีต่างๆ โดยการสนับสนุนจากธุรกิจรายใหญ่ มีศิลปินดารามาแสดง แต่ไม่มีการควบคุมไม่ให้เด็ก เยาวชนเข้าไปดื่มแอลกอแอล์
ด้าน นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมาย ทั้ง 42 คน มีความเห็นตรงกันในการปกป้องเด็กเยาวชน แต่ขณะนี้มีร่างกฎหมายถึง 5 ฉบับ ที่เสนอโดยรัฐบาล พรรคการเมือง และฝ่ายประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการ และฝ่ายรณรงค์ ทำให้ต้องพยายามหาจุดร่วมกันจากทั้ง 5 ร่าง ซึ่งไม่ง่าย แต่ก็มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว และคาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะเสร็จ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายด้วย
สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. งดขาย งดดื่มแอลกอฮอล์ให้งานประเพณี งานกาชาด งานของดีประจำพื้นที่ งานที่มีมหรสพรื่นเริง ดนตรีการแสดง ซึ่งส่วนใหญ่จัดในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ สถานศึกษา วัด หรือพื้นที่สาธารณะ 2.ส่งเสริมค่านิยมในครอบครัว “ไม่ชวนให้เด็กดื่ม ไม่ดื่มให้เด็กเห็น” 3.ควบคุมการโฆษณาแฝงด้วยน้ำดื่ม โซดา มีกิจกรรมดนตรี Music หรือ Sexy Marketing ใช้ศิลปิน ดาราที่มีชื่อเสียงรวมทั้ง ควบคุมการโฆษณาในสื่อออนไลน์ 4. ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนให้ทั่วถึงทุกคน นอกจากในโรงเรียน เพื่อให้มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ได้ทันสมัย และ 5.ภาครัฐในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ต้องให้ความสำคัญในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง.