วช.หนุนวิจัย-ยกมาตรฐาน
เลี้ยง “ผึ้ง” แมลงเศรษฐกิจ
ในการเลี้ยงสัตว์เพื่ออาชีพนั้น “ผึ้ง” จัดเป็นสัตว์หรือแมลงเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ด้วยมีผลผลิตหลายอย่างที่ช่วยสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างงาม โดยเฉพาะหากนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการเพาะเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและนักวิทยาศาสตร์พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ
รวมถึง “ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)เพื่อพัฒนายกระดับมาตรฐานการเลี้ยงผึ้งของไทยและเมื่อเร็ว ๆนี้ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่อง “มาตรฐานการเลี้ยงผึ้งและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง” ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จ.เชียงใหม่ โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 200 คน
ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคเหนือมีเกษตรกรเลี้ยงผึ้งอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 600 ราย จากข้อมูลของ “ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่” ที่รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และแม่ฮ่องสอน และส่วนใหญ่มีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันในการแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้ง โดยการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ภาคเหนือสามารถสร้างรายได้คิดเป็น 90% ของการเลี้ยงผึ้งทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี มีตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ไต้หวันและในสหภาพยุโรป(EU)
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งมีหลายอย่าง อาทิ เกสรผึ้ง, พรอพอลิส ซึ่งเป็นสารเหนียวคล้ายยางไม้ มีสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ ผึ้งสร้างขึ้นเพื่อใช้อุดรอยแตกภายในรังและดูแลป้องกันรังผึ้งจากศัตรู, นมผึ้ง หรือรอยัลเยลลี (rayal jelly) น้ำผึ้ง (honey)และ ไขผึ้ง (beeswax) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกร เช่น น้ำผึ้งมีราคาอยู่ที่ 170-240 บาทต่อกิโลกรัม น้ำผึ้งจากผึ้งพันธุ์ที่เป็นพันธุ์แถบยุโรปและอเมริกา 10 รังได้น้ำผึ้ง 1 ตันต่อครั้ง ไขผึ้งราคาประมาณ 100-200 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับพรอพอลิส มีราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนพิษผึ้งที่หากสามารถเก็บเกี่ยวได้จะช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ด้วยมีสนนราคาสูงประมาณ 200,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้องลงทุนสูงเกินกำลังของเกษตรกรจะทำได้
อย่างไรก็ดีการเลี้ยงผึ้งก็ไม่ได้ต่างจากสัตว์ประเภทอื่นที่สามารถมีปัญหาเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องศัตรูผึ้งที่สำคัญได้แก่ “ไรผึ้ง” ที่นำไปสู่การนำสารเคมีมาใช้ในการกำจัด ทำให้เกิดปัญหาผลิตภัณฑ์หรือน้ำผึ้งปนเปื้อนเคมี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภคและบานปลายเกิดปัญหากีดกันทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกตามมา
จากเหตุดังกล่าว บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างความตระหนักและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีประโยชน์แก่เหล่าเกษตรกรว่า “ผึ้งที่แข็งแรง จะนำไปสู่การได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี บริโภคแล้วดี ต้องเลี้ยงด้วยมาตรฐานที่ดี”
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูรและคณะ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อศึกษาวิจัยในหัวข้อ “เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้ง” จนได้ผลงานที่เป็นประโยชน์หลายอย่างและได้นำมาเผยแพร่และถ่ายทอดสู่เกษตรกรในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งล่าสุด
รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ เปิดเผยว่า “สนใจมาทำวิจัยด้านผึ้งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราได้รับโอกาสได้รับทุนหลวงไปร่ำเรียนสูง ๆ จึงอยากจะนำความรู้มาทำประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะหากเราเลี้ยงผึ้งให้ได้มาตรฐานจะทำให้ผู้ซื้อเลือกใช้วัตถุดิบของเราไปทำเครื่องสำอาง ซึ่งเวลานี้กล่าวได้ว่า น้ำผึ้งคุณภาพอยู่ที่แอฟริกา อเมริกาใต้ เพราะยังเป็นน้ำผึ้งธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้าง และต้องส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ ผึ้งยังเป็นสัตว์ที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย โดยเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อระบบนิเวศ ช่วยผสมเกสรดอกไม้ ทำให้ต้นไม้ออกผล ไม้ผลมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทุกปีจะจัดงานแบบนี้ เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร”
ทั้งนี้ตัวอย่างผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณและทีมงาน ได้แก่ “การพัฒนาเซรามิกพรุนสำหรับกำจัดไรผึ้ง” (CRAMPORE) ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยพัฒนาเซรามิกพรุนชิ้นเล็ก ๆ พร้อมน้ำมันตะไคร้สำหรับใช้หยด เพื่อนำไปใส่ไว้ในรังผึ้งแก้ปัญหาการรบกวนของไรผึ้งที่เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ในตัวอ่อนผึ้ง เช่น โรคจากเชื้อราชอล์คบรูด(Chalkbrood) โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคตัวอ่อนเน่า (American foulbrood)และโรคตัวอ่อนเน่ายูโรเปียน (European foulbrood) ที่ทำให้ตัวอ่อนตาย ถือเป็นทางเลือกใหม่ช่วยแก้ปัญหาการใช้เคมีหรือสารปฏิชีวนะมาใช้สารสกัดจากธรรมชาติแทน ทำให้ไม่มีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ผึ้ง
ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม หนึ่งในทีมงานจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดเผยว่า “การดูว่าผึ้งมีไรรบกวนหรือไม่ สังเกตได้จากมีตัวอ่อนน้อยเพราะนางพญาผึ้งจะไม่วางไข่ เดิมมีการใช้สารปฏิชีวนะทำให้เกิดสารตกค้างในน้ำผึ้ง ทำให้ส่งออกยาก จึงได้พัฒนาเซรามิกโดยใช้ดินผสมฟิลเลอร์เพื่อสร้างรูพรุนเพื่อควบคุมการปล่อยสารให้ยาวนาน มีต้นทุนต่ำเพียง 10 บาทต่อชิ้น ใช้งานเพียง 1-4 ชิ้นต่อรังโดยพิจารณาตามจำนวนประชากรผึ้ง จากนั้นเซรามิกรูพรุนจะปล่อยน้ำมันตะไคร้ที่มีฤทธิ์กำจัดไรผึ้งออกมาได้นาน 7-14 วันต่อการเติมน้ำมันตะไคร้ 1 ครั้ง ซึ่งผึ้งชอบกลิ่นตะไคร้ ไม่ย้ายรังหนี สามารถใช้ป้องกันไรผึ้งได้ทั้งรัง มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรผึ้ง 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับรังผึ้งชุดควบคุม นอกจากนี้ยังมีกลิ่นฉุนป้องกันตัวต่อที่เป็นอีกศัตรูของผึ้งได้ด้วย”
ด้านดร.อุไรวรรณ อินต๊ะถา แห่งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวเสริมว่า “ เดิมได้ทดลองใช้สารอื่น ๆ ด้วย 7ชนิด รวมถึง อบเชยและกระเพรา แต่ตะไคร้ได้ผลดีที่สุด ซึ่งในการทดสอบภาคสนามพบว่า น้ำมันตะไคร้ช่วยกำจัดไรผึ้งให้ตายและไม่เข้ามาในรัง หรือหากติดเข้ามาก็จะตาย จากนั้นผึ้งงานจะทำความสะอาดเพื่อลดการเกิดเชื้อราภายในรังผึ้ง”
สำหรับการค้นพบที่สำคัญอื่น ๆ ของทีมวิจัยได้แก่ ค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์พรอพอลิสแกรนูลที่เตรียมจากสารสกัดพรอพอลิสมีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ โดยผลิตภัณฑ์พรอพอลิสไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังในหนูทดลอง อีกทั้งพบว่า สารสกัดพรอพอลิส สามารถต้านการอักเสบได้ด้วย โดยลดการหลั่งไนตริกออกไซด์จากเซลล์แมคโคฟาจ และพบว่า “นมผึ้ง” จากผึ้งแคระ ผึ้งหลวงและผึ้งโพรงสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคเริม ได้ การค้นพบเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอาง “ครีมนมผึ้ง” สำหรับยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคเริมบริเวณผิวหนังและผลิตภัณฑ์ “พรอพอลิสแกรนูลบรรจุในแคปซูล” สำหรับยับยั้งเซลล์มะเร็ง
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัย “การโคลนและการแสดงออกของยีนชีวสังเคราะห์โปรตีนไหมจากผึ้งหลวงในเชื้อแบคทีเรีย” เนื่องจากไหมเป็นพอลิเมอร์ประเภทโปรตีนที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมได้ โดยที่ผ่านมามีการวิจัยในแมลงหลายชนิด แต่ยังไม่มีการศึกษาไหมในผึ้งไทย โดยเฉพาะผึ้งหลวงที่มีความแข็งแรงมากกว่าผึ้งชนิดอื่น ๆ รวมถึงในการเลี้ยงผึ้งมีการเปลี่ยนคอนผึ้งทุกปีและคอนผึ้งเก่าจะถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ควรจะเป็นนอกจากจะนำไขผึ้งมาสร้างรังผึ้งใหม่ ทีมนักวิจัยจึงศึกษาครีมไหมผึ้งและสารสกัดจากรังผึ้ง จนได้พบว่า สารสสกัดดังกล่าวออกฤทธิ์ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นกับโมเลกุลต่าง ๆ ในรายกายและเกิดผลเสียที่ทำให้เกิดโรคตามมา อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสื่อมของเซลล์ร่างกายที่ทำให้ “ความชรา” มาเยือนก่อนวัยอันควร
คาดว่า กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เพื่อส่งต่อผลผลิตภัณฑ์ดี มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ส่งผลดีต่อการส่งออก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผึ้ง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสืบไป สอดพ้องกับสโลแกนกับการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้แก่ประเทศนั่นเอง