วท.เตรียมถ่ายทอด “ภูฏาน”
เทคโนฯขนส่งจราจรอัจฉริยะ
วท.เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีขนส่งจราจรอัจฉริยะสู่ประเทศภูฏาน เผยเวทีลดโลกร้อนปารีส ยกไทยสุดยอดของการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กลไกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ 20-25% เทียบกับปี 2005 ภายในปี 2030 ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการขนส่งทางถนน เพิ่มการขนส่งระบบราง ขจัดการบุกรุกป่า ทำแผนจัดการน้ำ และทำโรดแมปลดหมอกควัน
ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมซึ่งมีผู้แทนจาก 195 ประเทศทั่วโลก ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่จะใช้พยายามอย่างหนักในการควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยจะเร่งรัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมคือ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รับผิดชอบหลักในประเด็น การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุมให้เร่งรัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีการใช้แล้วในเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาตามกลไกเทคโนโลยีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน
นอกจากนี้ ดร.สุรชัยยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงาน Lima-Paris Action Agenda จัดโดย องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และเครือข่ายและศูนย์ประสานงานด้านเทคโนโลยีภูมิอากาศ (CTCN) โดยได้นำเสนอนโยบายในการส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศไทยผ่านนโยบายและกลไกขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญ เช่น มาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีเป้าหมาย1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยมีสัดส่วนลงทุนของภาคเอกชนกับภาครัฐ 70 : 30 นโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน หรือโครงการทาเลนท์ โมบิลิตี้ รวมทั้ง นำเสนอโครงการของประเทศไทยที่ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อ CTCN ภายใต้ UNFCCC จำนวน 6 โครงการ และกรณีตัวอย่างที่ประเทศไทยจะถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ สู่ประเทศภูฏานตามการร้องขอของประเทศภูฏานผ่านCTCN
“โดยข้อเสนอของประเทศไทยได้รับความชื่นชมจาก เครือข่ายและศูนย์ประสานงานด้านเทคโนโลยีภูมิอากาศ ว่าเป็นข้อเสนอที่ดี มีระบบในการคัดเลือกอย่างชัดเจน โปร่งใส และยังนำ 6 ข้อเสนอของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ไปแถลงข่าวในระหว่างการประชุม COP21 รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบขนส่งจราจรอัจฉริยะ ของประเทศไทยไปสู่ประเทศภูฏานตามคำร้องขอของภูฏาน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีแรกของโลกในการช่วยเหลือกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันหรือที่เรียกว่า South-South ภายใต้กลไกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.สุรชัย กล่าว
ดร.สุรชัย ได้อ้างอิง ถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ที่แสดงเจตจำนงต่อเวทีโลกโดยขอให้ประเทศพัฒนาแล้วถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ร่วมวิจัยพัฒนาเพื่อการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซที่ 20-25% เมื่อเทียบกับปี 2005 ภายในปี 2030 และจะมีมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ลดการขนส่งทางถนน เพิ่มการขนส่งระบบราง ขจัดการบุกรุกป่า ทำแผนจัดการน้ำ และทำโรดแมปลดหมอกควัน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สอดรับกับการประชุมในปีนี้ ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ลดภาวะโลกร้อน ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง